วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

บทความ



เด็กและประชาชน คือ ประชาชนช่วงอายุ 0 – 25 ปี ซึ่งเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ ปัจจุบันสังคมไทยและสังคมโลกจะให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าโอกาสแห่งการเรียนรู้สูงสุดก็อยู้ในช่วงเด็กและเยาวชนนี้เอง
การศึกษาเรื่องการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน นั้นส่วนใหญ่อาศัยศาสตร์ทางด้านจิตวิทยาการเรียนรู้และจิตวิทยาพัฒนา อย่างไรก็ตามในระยะหลังได้มีการศึกษาทางด้านประสาทวิทยา โดยเฉพาะการศึกษาเรื่องสมอง โดยวิธี imaging อย่าง functional MRL ทำให้นอกจากจะมีการยืนยันบางส่วนของทฤษฎีการเรียนรู้แล้ว ยังมีการค้นพบใหม่ๆ ที่ยิ่งลึกและเปลี่ยนแปลงความเข้าใจเรื่องการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนอย่างมีนัยสำคัญ เรื่องแรกที่เห็นได้ชัดคือ ก่อนหน้านี้ นักวิชาการด้านการเรียนรู้มีความเชื่อว่าสมองมีการเจริญเติบโตสูงสุดในช่วงอายุ 12 ไม่ใช่แต่เพียงเรื่องขนาดเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงพัฒนาการทางสติปัญญาด้วย แต่ด้วยการศึกษาใหม่ๆ ดังกล่าวได้ค้นพบความเป็นจริงว่า สมองของวัยรุ่นยังพัฒนาไปได้อีกไกล ทั้งสมองส่วนสีเทาและส่วนสีขาว มีการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างจนกระทั่งอายุ 20 – 25 ปี จึงไม่น่าแปลกใจว่าสิ่งที่เรียกว่า “ ปัญหา’’ วัยรุ่น นั้นนอกจากจะเป็นผลจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว และอิทธิพลของฮอร์โมนเพศแล้ว ยังเป็นเรื่องของช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ที่วัยรุ่นจะต้องพัฒนาขึ้น เพื่อจะสามารถคิดและควบคุมตนเองไปสู่วุฒิภาวะได้ การเติบโตและการพัฒนาการของสมอง เป็นรากฐานของการพัฒนาการเรียนรู้และเริ่มต้นตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ การสร้างเซลสมองของทารกมีสูงสุดในช่วงทารกอายุ 3 – 6 เดือนในครรภ์ และมีมากกว่าในช่วงวัยเด็กเสียอีก แต่ในช่วงสุดท้ายของการตั้งครรภ์ เซลสมองที่ไม่จำเป็นก็จะถูกลดจำนวนไป และอาจกล่าวได้ว่าคนเราเกิดมาพร้อมกับจำนวนเซลสมองที่ไม่จำเป็นก็จะถูกลดจำนวนไป โดยไม่มีการสร้างใหม่ การเติบโตของสมองที่มิได้ในช่วง 0 – 6 ปี เป็นการเติบโตทางปริมาณอย่างยิ่งยวด ทำให้สมองมีขนาด 90 – 95 % ของวัยใหญ่ซึ่งแน่นอนว่าการขยายตัวนี้มิได้เกิดจากการเพิ่มจำนวนของเซลแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะมีการสร้างเซลประสาทเชื่อมโยงกันระหว่างเซลสมองส่วนต่างๆ สำหรับช่วงอายุ 6 -12 ปี เซลประสาทจะเติบโตในลักษณะของการเชื่อมโยงระหว่างเซลประสาท สมองส่วนสีเทา ซึ่งก็คือ เซลสมองและใยประสาทส่วนรับข้อมูล ( dendrite ) จะเติบโตถึงจุดสูงสุด เมื่อเด็กผู้หญิงอายุ 11 ปี และเด็กผู้ชายอายุ 12 ปี การเติบโตของสมองในช่วงวัยรุ่นเป็นสิ่งที่น่าสนใจยิ่ง ขณะที่ dendrite ในสมองส่วนสีเทาต่างๆ ลดจำนวนลง สมองส่วนสีขาว ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยใยประสาทส่วนรับข้อมูล (axon) กลับสร้างและเพิ่มขนาดของเปลือกหุ้มขึ้น ช่วยทำให้การส่งกระแสประสาทมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยสรุปก็คือในช่วงวัยรุ่นการเชื่อมโยงจะน้อยลงแต่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงของสมองในช่วงเด็กและวัยรุ่น ที่กำหนดโครงสร้างพื้นฐานของการเรียนรู้ นอกนั้นมาจากอิทธิพลของพันธุกรรม ปัจจัยภายนอกทั้งด้านอาหาร การเลี้ยงดู สภาพแวดล้อมที่เด็กและเยาวชนเรียนรู้
อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องสมองซึกซ้ายและสมองซึกขวา ซึ่งเดิมมักจะถูกเข้าใจว่า เป็นการทำหน้าที่แยกส่วนจากกัน โดยสมองซึกซ้ายของคนที่ถนัดขวา จะทำหน้าที่ด้านการใช้เหตุผล ภาษา และคณิตศาสตร์ ขณะที่สมองซึกขวา จะทำหน้าที่ด้านศิลปะ ดนตรี จินตนาการ และมิติสัมพันธ์ การศึกษาเรื่องการเรียนรู้ในระยะหลัง พบว่าการทำงานของสมอง จะเป็นลักษณะการทำงานร่วมกัน ทั้งสมองซึกซ้ายและขวา ดังนั้น เราจึงสามารถใช้จินตนาการ ดนตรี ศิลปะ และมิติสัมพันธ์ มาส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องการใช้เหตุผล ภาษาและคณิตศาสตร์ หรือทำนองกลับกัน การศึกษาที่น่าสนใจเหล่านี้ ยังรวมความถึงบทบาทของดนตรี บางลักษณะ ในการจัดระเบียบความสัมพันธ์ การทำงานของสมองส่วนต่าง ๆ การเรียนรู้ที่ผสมผสาน ไปกับความเพลิดเพลินทั้งในห้องเรียนและผ่านสื่อ (Edutainment) การเรียนรู้ที่อาศัยกิจกรรมที่หลากหลาย ซึ่งผสมผสานการทำงานของสมองทั้ง 2 ด้านเป็นต้น
พัฒนาการทางสมองจึงสามารถพิจารณาในเชิงโครงสร้างพื้นฐาน ว่าเป็นปรากฏการณ์ของการขยายตัว และตัดทอนส่วนที่ไม่ได้ใช้ รวมทั้งการทำงานร่วมกันระหว่างสมองทั้ง 2 ซึก ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว กระบวนการพัฒนานี้เกิดขึ้นในลักษณะเป็นขั้นตอนของการพัฒนาการ นั่นก็คือ มีแต่ระยะ ซึ่งก็คือในแต่ละวัย ( วัยทารก วัยปฐมวัย หรือวัยอนุบาล วัยเรียน และวัยรุ่น ) จะมีบางส่วนของสมอง ที่เติบโตเต็มที่ และบรรลุวุฒิภาวะสมองก่อนส่วนอื่น ๆ และนี่ก็คือ รากฐานของแนวคิด “หน้าต่างแห่งโอกาส” ซึ่งอาศัยความเข้าใจในเรื่องพัฒนาการของสมองมาส่งเสริมการเรียนรู้ ที่เหมาะสมในแต่ละวัย
ความเข้าใจนี้ยังครอบคลุมการเรียนรู้ ทั้งส่วนที่เป็นปัญญาภายนอก หรือความรู้และทักษะต่าง ๆ ในลักษณะที่หลากหลาย หรือพหุปัญญา (multiple intelligence ) และปัญญาภายใน คือ ความสามารถในการครอบคลุมตัวเอง และลักษณะภายในของบุคคล หรือที่เรียกกันว่า EI บ้าง EQ บ้าง ( Emotional Intelligence ) ทั้งนี้ก็เป็นเพราะในสมองใหญ่ของคนเราประกอบด้วย สมองส่วนคิด ( Cerebral cortex ) และสมองส่วนอยาก (Limbic system ) ซึ่งทำงานเกี่ยวข้องกับสัญชาตญาณ และอารมณ์ การเติบโตของปัญญาภายนอก เป็นผลจากการเรียนรู้หรือสมองส่วนคิดส่วนต่าง ๆ ในการที่จะจัดการกับสิ่งแวดล้อมภายนอก ขณะที่ปัญญาภายใน เป็นผลจากการที่เรียนรู้ในการที่จัดการกับสัญชาตญาณและอารมณ์อันเป็นความต้องการภายใน โดยนัยนี้ก็คือ สมองมีศักยภาพในการพัฒนาปัญญาภายนอก และปัญญาภายในไปด้วยกัน ปัญหาอยู่ที่ว่า เราได้ใช้ศักยภาพตามระยะต่าง ๆ ของหน้าต่างแห่งโอกาสหรือไม่ โดยเฉพาะในด้านปัญญาภายใน ซึ่งจะเป็นรากฐานของคุณลักษณะสำคัญของคนในสังคมไทย สืบไป
การเปลี่ยนแปลงนี้ การมองจากกายวิภาคของสมองแล้ว จะมีลักษณะจากหลังไปหน้า เริ่มจาก วัยทารก สมองส่วนที่บรรลุภาวะก่อน โดยผ่านกระบวนการขยายตัวและตัดส่วนที่ไม่ได้ใช้ ( proliferation and pruning ) ได้แต่ด้านหลังของสมองที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้โลกภายนอกทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเห็น การได้ยิน การสัมผัส มิติสัมพันธ์ เป็นต้น ถัดมาในช่วงปฐมวัย และวัยเรียน ได้แก่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประสานหน้าที่ต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ในช่วงวัยรุ่น สมองสุดท้ายของสมองใหญ่ ได้แก่ ส่วนหน้าสุด หรือ prefrontal lobe ที่จะเกี่ยวข้องกับวิจารณญาณ และการตัดสินใจต่าง ๆ ซึ่งอาศัยช่วงเวลาที่ ยาว 12-13 ปี นับแต่เข้าสู่วัยรุ่น จนกระทั่ง พัฒนาเต็มที่ ในระยะนี้ ก็เป็นช่วงเดียวกันกับที่สมองส่วนอยาก ( Limbic system ) มีการเปลี่ยนแปลงจากการได้รับฮอร์โมนเพศ ทำให้มีความต้องการทางเพศ การแสวงหาความตื่นเต้น ตลอดจนความรุนแรง กลายเป็นลักษณะที่โดดเด่นของวัยรุ่น ซึ่งกว่าที่สมองส่วนหน้า จะบรรลุวุฒิภาวะ ก็ต้องอาศัยการเรียนรู้อีกยาวไกล
โดยสรุปแผนการเรียนรู้สู่สุขภาวะจึงควรพิจารณาถึง1) การใช้ความรู้ในเรื่องการเติบโตและพัฒนาการของสมองในแต่ละวัยมาเป็นเป้าหมายในการพิจารณาที่เจาะจงในแต่ละวัย ทั้งปัญญาภายนอกและปัญญาภายใน
2) ส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อให้กระบวนการขยายตัว และตัดทอนส่วนที่ไม่ได้ใช้ รวมทั้งการทำงานร่วมกันของสมองทั้ง 2 ซีก ซึ่งเป็นรากฐานการเปลี่ยนแปลงของสมองให้เกิดประโยชน์สูงสุด
3) กรรมพันธุ์ เป็นปัจจัยภายในที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ส่วนสำคัญอยู่ที่ปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหาร การออกกำลังกาย การเลี้ยงดู สิ่งแวดล้อมทางกายภาพและสังคม เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สูงสุดในแต่ละวัย

ไม่มีความคิดเห็น: